top of page
Writer's pictureฝ้ายคำ

EAU Learn & Share : วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่น่าสนใจในวรรณกรรมคลาสสิค “ตำนานเก็นจิ"

Updated: Apr 11, 2018

อาจารย์จิราวัฒน์  เทพพงษ์

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์

กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท

สาขาวิชา Japanese Literature Kyoto Gakuen University, Kyoto, Japan




หากพูดถึงวรรณกรรมคลาสสิคที่เก่าแก่และโด่งดังของญี่ปุ่นที่ถึงขั้นเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจ ตลอดจนความนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาตินั้น  ชื่อของ “ตำนานเก็นจิ” หรือ 源氏物語 (เก็นจิโมะโนะงะตะริ) คงจะต้องเป็นหนึ่งในผลงานที่ใครๆ จะต้องนึกถึงเป็นแน่  เพราะฉะนั้น เราไปเรียนรู้วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อของชาวญี่ปุ่นผ่านวรรณกรรมชิ้นนี้ผ่านวรรณกรรมชิ้นนี้กันเถอะครับ

ก่อนอื่นในบทความนี้ ผู้เขียนขอเล่าเกร็ดความรู้ รายละเอียดของผลงานชิ้นโบว์แดงเรื่องนี้ก่อนนะครับ “ตำนานเก็นจิ” หรือ 源氏物語 (เก็นจิโมะโนะงะตะริ) เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของญี่ปุ่น ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของโลกและมีตัวละครที่ปรากฏภายในเรื่องมากกว่า 100  ตัว โดยวรรณกรรมเรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นโดยกวีสตรีในสมัยเฮอัน ผู้มีนามว่า “มุราซะกิ ชิคิบุ”  (紫式部)  ซึ่งเป็นธิดาของขุนนางที่มีความเชี่ยวชาญในด้านกลอนจีน “ฟุจิวาระ โนะ ทะเมะโตกิ” (藤原為時) มุราซะกิชิกิบุเข้ารับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระนางโชชิ  (彰子中宮) พระมเหสีของจักรพรรดิอิจิโจ  (一条天皇) และเริ่มแต่งผลงานชิ้นนี้ในช่วงปี ค.ศ.1001 และสันนิษฐานว่าเขียนเสร็จในช่วงปี ค.ศ.1008

เก็นจิโมะโนะงะตะริ เป็นนวนิยายรักเรื่องยาว เป็นเรื่องราวชีวิตของฮิคารุ เก็นจิ (光源氏) ที่มีความสัมพันธ์รักกับผู้หญิงหลายคน หลายชนชั้น  มีความยาวทั้งหมด  54 ตอน  โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 มีความยาว 33 ตอน ตั้งแต่ตอนคิริทสึโบะ (桐壷) จนถึงตอนฟุจิโนะอุระบะ (藤裏葉) เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่การกำเนิดของเจ้าชายเก็นจิที่ต่อมาถูกลดระดับลงให้เป็นขุนนางธรรมดา เนื่องจากพระบิดาเกรงว่า หากให้คงสถานะเป็นเจ้าชายไว้อาจถูกขุนนางผู้มีอำนาจคนอื่น ตลอดจนพระมเหสีอิจฉาริษยาและถูกทำร้ายได้  ภายในตอนนี้ฮิคารุเก็นจิได้พบกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา เช่น มุระซะกิโนะอุเอะ (紫の上) โอะโบะโระทสึกิโยะ (朧月夜) มีทั้งความรักที่สุขสมหวัง ผิดหวัง และเนื้อเรื่องได้ดำเนินมาถึงฮิคารุเก็นจิได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองจักรพรรดิ เมื่อตอนอายุ 39 ปี




ส่วนที่ 2 มีความยาว 8 ตอน เริ่มตั้งแต่ตอนวะกะนะ (若菜上)  จนถึงตอนมะโบะโระชิ (幻) ฮิคารุเก็นจิ อายุ 40 ปี ได้แต่งงานอีกครั้งกับอนนะซัง โนะ มิยะ (女三の宮)  และอนนะซังโนะมิยะได้แอบไปมีความสัมพันธ์ลับๆกับขุนนางหนุ่ม ชื่อคะชิวะงิ (柏木)  จนมีบุตรชายชื่อ คะโอะรุ (薫)  โดยในส่วนนี้ เนื้อเรื่องจบลงตรงที่ฮิคารุเก็นจิตัดสินใจออกบวช




ส่วนที่ 3 มีความยาว 13 ตอน เริ่มตั้งแต่ตอนนิโอะอุโนะมิยะ (匂宮)  จนถึงตอนยูเมะโนะอุคิฮาชิ (夢浮橋) เรื่องราวในช่วงหลังนี้เป็นเรื่องราวของคะโอะรุ ลูกชายของฮิคารุเก็นจิที่ตามจริงเป็นลูกแท้ๆของคะชิวะงิ โดยได้ไปมีความสัมพันธ์กับ 3 พี่น้อง คือ โองิมิ (大君)  นะกะโนะกิมิ (中君)  อุคิฟุเนะ (浮舟)  ที่เมืองอุจิ (宇治)  จึงเรียกส่วนนี้ว่า อุจิจูโจ  (宇治十帖)

ถึงแม้ว่าเนื้อหาหลักจะดำเนินไปภายใต้เรื่องของความรักความใคร่ ตลอดจนความสัมพันธ์ของหนุ่มสาว แต่สิ่งหนึ่งที่แฝงไว้ในเรื่องคือแนวความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกขุนนางที่เรืองอำนาจในยุคสมัยเฮอันด้วย นอกจากนี้ “ตำนานเก็นจิ” หรือ 源氏物語 (เก็นจิโมะโนะงะตะริ) เรื่องนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นผลงานที่มีคุณค่าและมีอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณกรรมในยุคสมัยต่อมา อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่องานด้านศิลปะการแสดงของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหากเราได้สัมผัสและเข้าใจภูมิหลังของผลงานชิ้นนี้ เราจะสามารถเข้าใจจิตใจ ความคิดของคนญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้นครับ


Opmerkingen


Opmerkingen zijn uitgezet.
bottom of page